หนังสือเล่มนี้ถูกออกแบบมาสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยภาษา Java ทุกระดับ ไม่ว่าคุณจะมีความรู้พื้นฐานมาแล้ว หรือยังไม่เคยเรียนรู้การพัฒนาซอฟต์แวร์มาก่อนเลยก็ตาม เรามีเทคนิคการเรียนรู้ง่ายๆ ดังนี้
สำหรับผู้ไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อน
ภาพที่ 2-1 แสดงเทคนิคการเรียนสำหรับผู้ไม่มีพื้นฐาน
หากยังไม่มีความรู้พื้นฐานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์มาก่อนเลย ขอแนะนำ ให้เรียนแต่ละตอนตามลำดับ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ 1 รอบ โดยไม่ต้องเขียนโค้ดใดๆ เพียงแค่มองให้เห็นภาพรวมคร่าวๆ ก่อนเท่านั้น
หลังจากนั้นให้อ่านซ้ำอีกรอบ และสร้างโปรแกรมตามเนื้อหาในหนังสือให้ได้ผลลัพธ์เหมือนกัน ในระหว่างนี้ แนะนำให้จดคำศัพท์และความหมายของคำต่างๆ ที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่เข้าใจความหมายเอาไว้อ่านทบทวนในเวลาว่าง
คำศัพท์บางคำ ต่อให้นิยามให้ฟังดูเข้าใจง่ายมากแค่ไหนก็ตาม แต่เราจะไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของมัน หากยังไม่ได้ลงมือปฎิบัติ หรือไม่ได้นำความรู้นั้นไปใช้งานจริง
หลังจากสร้างโปรแกรมเสร็จสมบูรณ์แล้ว ให้ทบทวนทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบอีกครั้ง และเขียนโปรแกรมเดิมขึ้นมาใหม่ หรือทำการประยุกต์เพิ่มติม โดยไม่ต้องดูหนังสือหรือโน้ตที่จดเอาไว้
โปรแกรมที่สร้างขึ้นมาเองจะทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง มากกว่าตอนที่เราลอกคนอื่นแล้วทำตาม และนั่นแสดงว่า คุณประสบความสำเร็จในบทเรียนนี้แล้ว
สำหรับผู้มีความรู้พื้นฐาน
ถ้าคุณเคยพัฒนาซอฟต์แวร์มาบ้างแล้ว สามารถเลือกดูเฉพาะหัวข้อที่สนใจได้เลย หนังสือเล่มนี้ออกแบบให้แต่ละตอนมีเนื้อหาสั้นๆ อธิบายด้วยภาษาง่ายๆ กระชับ ชัดเจน เพื่อให้ทุกๆ วินาทีที่มีค่าของคุณผ่านไปอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
ภาพที่ 2-2 แสดงเทคนิคการเรียนสำหรับผู้มีพื้นฐาน
ในขณะที่อ่านลองใช้ความรู้พื้นฐานหรือวิธีการเขียนโค้ดแบบต่างๆ ที่คุณเคยได้เรียนรู้มา นำมาเปรียบเทียบและวิเคราะห์ดูว่า วิธีการเขียนโค้ดแบบใดที่คุณคิดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ดีกว่าในแง่ของความสะดวกในการพัฒนา อ่านง่าย เข้าใจง่าย บำรุงรักษาง่าย แบบไหนมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน ข้อดีข้อด้อยของโค้ดมีอะไรบ้าง? แล้วคุณคิดว่า...คุณสามารถเขียนโค้ดด้วยวิธีที่ดีกว่านี้ได้หรือไม่?
ฟังดูอาจจะเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่นี่คือสิ่งที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ทำกันเป็นเรื่องปกติค่ะ ในตอนต่อไปเราจะเตรียมเครื่องมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์กันนะคะ แล้วพบกันค่ะ 😀